เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยพืชยาภายใต้โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์

03 December 2024

ด้วย สถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท (KAI) ได้มีการพิจารณาและจัดทำเกณฑ์การรับพิจารณาโครงการวิจัยพืชยาภายใต้โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เกณฑ์รับพิจารณาโครงการวิจัยพืชยาภายใต้โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์
ก. ด้านพืชยา
1. สามารถปลูกได้ในพื้นที่จังหวัดน่าน (เช่น พรมมิ ฟ้าทะลายโจร เชียงดา ขมิ้นชัน ขิง รางจืด กระชายดำ อัญชัน ไพล มะแว้งต้น บัวบก เพชรสังฆาต ปัญจขันธ์ กระชาย ชาอัสสัม หม่อน ตำลึง งาขี้ม้อน พญายอ ว่านหางจระเข้ หญ้าแฝก สังกรณี มิ้นต์ ผักคราดหัวแหวน เป็นต้น) หรือมีหลักฐานการปลูกที่จังหวัดน่าน เช่น ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมด้านการปลูก หรือข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น และต้องระบุสปีชีส์ สายพันธุ์ ส่วนของพืชที่ใช้ ได้ชัดเจน
2. ถ้าพืชในโครงการเป็นไม้ยืนต้น ส่วนที่นำมาใช้ต้องไม่เป็นการตัดต้นไม้นั้น
3. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสารเสพติด เคยอยู่ในสารเสพติด มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการมองว่าเป็นสารเสพติด หรือมีผลกระทบแง่ลบต่อสังคม

ข. ด้านผลิตภัณฑ์และโอกาสทางการตลาด
1. ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ข้อบ่งใช้เกี่ยวกับโรคหรือกลุ่มอาการ ดังต่อไปนี้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ กลุ่มอาการทางสมอง กลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร กลุ่มอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ กลุ่มอาการทางระบบต่อมไร้ท่อ กลุ่มอาการทางผิวหนัง กลุ่มอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะ กลุ่มอาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยโรคหรือกลุ่มอาการที่ไม่ใช่เป้าหมายของโครงการ มีดังต่อไปนี้ โรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม โรคติดเชื้อ โรคในสตรีมีครรภ์
2. พืชยาเดี่ยวหรือตำรับก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 3 ชนิด
3. ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างจากที่มีและมีข้อได้เปรียบเหนือผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด
4. สามารถระบุกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจน
5. มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างพืชยากับผลิตภัณฑ์

ค. ด้านกระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
1. ผลิตภัณฑ์ที่เสนอสามารถเป็นได้ทั้งสารสกัดมาตรฐาน หรือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
2. กำหนด  Natural  Active Pharmaceutical Ingredient (NAPI) ที่ชัดเจน และ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่าง NAPI กับข้อบ่งใช้
3. มีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานการวิจัย ที่สามารถใช้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ได้
4. มีแผนการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์ (Mechanism of action)
5. ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจะต้องมาจากสารสกัดมาตรฐานจากพืช เท่านั้น

หมายเหตุ:

  • ทีมวิจัยต้องรับทุนผ่านองค์กรต้นสังกัด เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยพัฒนา องค์กรสาธารณะ เป็นต้น โดยขอให้ส่ง proposal ผ่านหน่วยบริหารวิจัย คณะเภสัชศาสตร์
  • ผู้ร่วมวิจัยในทีมมีความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับแผนงานวิจัยแต่ละขั้นตอนที่เสนอมา
  • ผู้วิจัยสามารถเสนองบประมาณที่สอดคล้องกับกิจกรรมในโครงการวิจัยได้ตามความเหมาะสม 
  • ขอผู้วิจัยโปรดระบุรายละเอียดของโครงการ กิจกรรม ระยะเวลา output outcome งบประมาณ ที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการพิจารณา
  • หากทาง KAI พิจารณาแล้ว จะมีการนัดหมายนำเสนอโครงการ โดยจะประสานแจ้งยังผู้วิจัยโดยตรงต่อไป
โดยผู้สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการมายังหน่วยบริหารงานวิจัย ทาง E-mail: research.rxcmu@gmail.com เพื่อคณะฯ ประสานงานยัง KAI ต่อไป 

ทั้งนี้ ขอให้ผู้เสนอโครงการกำหนดค่าบริหารโครงการ 10% ของงบประมาณทั้งโครงการ ตามระเบียบของ มช. 

จำนวนการเข้าชม 36 ครั้ง